ปัจจุบันเรื่องที่น่าปวดหัวมากสำหรับผู้จัดการหรือหัวหน้างาน คือการจูงใจให้คนเกิดความกระตือรือร้นในการทำงานเพิ่มขึ้น เพราะความต้องการของผู้บริหารมีค่อนข้างสูง เนื่องจากการแข่งขันเพื่อให้ธุรกิจเติบโตและอยู่รอดนั้นทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ทีมงานก็รู้สึกว่างานเยอะ งานยาก ทำไม่ค่อยไหว เกิดอาการท้อถอยกันไปตามๆ กัน ผู้จัดการ / หัวหน้างานก็พยายามหาแรงจูงใจมาเชิญชวนให้ทีมงานขยันและกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้น ก็ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง วันนี้อยากเล่าเรื่องที่ใช้โค้ชชิ่งให้ผู้อื่นเกิดความกระตือรือร้นมากขึ้น ดังนี้ครับ สาเหตุคนขาดความกระตือรือร้นเพราะ... เบื่อ เจอปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ ซากๆ คิดว่าไม่สามารถทำงานได้สำเร็จ งานยากเกิน เจอปัญหาแล้วแก้ไขไม่ได้ หาคนช่วยไม่ได้ งานไม่น่าสนใจ ทำไปวันๆ ให้จบวัน แนวทางที่ผมใช้ในการโค้ชชิ่ง (Coaching) โดยการหา Keywords ให้ได้ก่อน ซึ่งในกรณีนี้การให้คนกระตือรือร้นด้วยตัวเขาเอง ต้องทำให้เขาเกิดความรู้สึกกับงาน ดังนี้ มองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของงานที่ทำอยู่ มีวิธีการที่จะดำเนินการชัดเจนขึ้น (สามารถทำได้) รู้สึกว่างานท้าทายความสามารถดี โค้ชเป็นเพียงกระจกเงาสะท้อนให้โค้ชชี่มองเห็นตัวเอง แล้วค้นหาวิธีการของตัวเองโดยการใช้คำถามให้โค้ช ชี่เป็นผู้คิดเห็น จนกระทั่งได้คำตอบของตัวเองกับหัวข้อ (Keywords) ที่เราคิดไว้คร่าวๆ ก็จะทำให้โค้ชชี่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ด้วยตัวเองครับ ตัวอย่างคำถามต่างๆ เช่น งานที่ทำอยู่เป็นอย่างไรบ้าง? งานนี้มีคุณค่าหรือประโยชน์อะไรบ้าง ถ้าทำสำเร็จครับ? การคิดวิธีการต่างๆ เพื่อทำให้งานสำเร็จคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหนครับ? คุณคิดว่าควรใช้วิธีการอย่างไรเพื่อทำให้งานสำเร็จครับ? ปัญหา / อุปสรรคที่เจออยู่คือเรื่องอะไรบ้างครับ? คุณพอจะสรุปแนวทางเพื่อเอาชนะปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่? คุณคิดว่าจะเริ่มลงมือทำหน้าที่ที่คิดไว้เมื่อไรครับ? โค้ชต้องเชื่อมั่นว่า โค้ชชี่มีความสามารถเพียงพอและมีศักยภาพเหลืออยู่ เพียงแต่ยังมองเห็นตัวเองไม่ชัดเจน ดังนั้น ถ้าโค้ชพยายามถาม เพียงให้โค้ชชี่คิดแล้วแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตัวเองจากคำถามต่างๆ ก็จะทำให้โค้ชชี่มีวิธีการของตัวเองแน่นอนครับ ผมจะใช้การพูดคุยในการใช้คำถามและรับฟังจนกระทั่งโค้ชชี่ เห็นประโยชน์ อยากเริ่มลงมือทำ มีวิธีการของตัวเอง้ เข้าใจและแนวคิดของตัวเอง ผมก็จะหยุดการโค้ชชิ่งเพราะโค้ชชี่สามารถจูงใจตัวเองให้กระตือรือร้นได้เรียบร้อยแล้วครับ