หลักสำคัญของกระบวนการโค้ชชิ่งคือ การที่โค้ชสามารถทำให้โค้ชชี่คิดและมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง หากยอมรับและอยากเปลี่ยนแปลงก็จะนำไปสู่การค้นหาวิธีการที่เหมาะสมของตัวเอง แล้วตัดสินใจเลือกที่จะปฏิบัติด้วยตัวเอง การโค้ชชิ่งก็ประสบความสำเร็จ
การใช้คำถามเปิด
: คำถามประเภทที่ให้โค้ชชี่ได้แสดงความคิดเห็นของตัวเอง เช่น
คิดอย่างไร?
รู้สึกอย่างไร?
อยากปฏิบัติอย่างไร?
(เป็นต้น)
การบอกเล่าประสบการณ์ของโค้ชแทนการแนะนำ
: ประสบการณ์ของโค้ชที่เคยผ่านเหตุการณ์คล้ายๆกับสิ่งที่โค้ชชี่กำลังพบเจออยู่ จะทำให้โค้ชชี่ได้แง่คิดจากการแก้ไขปัญหาของโค้ชในอดีตแล้วประยุกต์ใช้ด้วยตัวเอง ไม่ถือว่าเป็นการแนะนำ เพราะเป็นเรื่องเล่าแต่โค้ชชี่เป็นผู้คิดได้ด้วยตัวเอง
การใช้นิทาน,หนังสือ, บทความสร้างแนวความคิด
: โค้ชชี่สามารถสร้างแนวความคิดได้ด้วยตัวเอง ผ่านการฟังเรื่องที่โค้ชเล่าให้รู้สึกอิสระที่จะคิดมากกว่าการถูกบังคับ เสมือนหนึ่งโค้ชชี่เป็นผู้อ่านหนังสือนั้นๆด้วยตัวเอง แล้วนึกถึงเหตุการณ์ของตัวเองจึงสามารถประยุกต์ใช้ได้ทันที การลงมือทำจะง่ายเพราะเป็นความคิดของโค้ชชี่เอง
การใช้กรณีศึกษาให้โค้ชชี่วิเคราะห์แล้วแสดงความคิดเห็น
: คนส่วนใหญ่ชอบแนะนำผู้อื่นและสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ของผู้อื่น ได้ดีกว่าสถานการณ์ที่ตัวเองเจอ หากโค้ชชี่ได้วิเคราะห์กรณีศึกษาแล้ว มีคำแนะนำกับกรณีศึกษาได้ก็เท่ากับกระตุ้นให้โค้ชชี่คิดถึงสถานการณ์ของตัวเองได้เช่นเดียวกัน เมื่อมองกลับมาที่หลุมพรางของตัวเองก็จะสร้างทางเลือกได้ดีขึ้น เพราะโค้ชชี่เสมือนหนึ่งเป็นคนนอกแล้วจึงแนะนำตัวเองได้ดีขึ้น
โค้ชสามารถใช้แนวทางเหล่านี้ตามความเหมาะสมกับเรื่องที่ให้โค้ชชิ่งได้ ซึ่งสามารถกระตุ้นให้โค้ชชี่คิดได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องแนะนำเลย |