ผมอยากเป็นโค้ชเพราะผมคิดว่า กระบวนการโค้ชช่วยทำให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลงตัวเอง และยังทำให้ผมเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย เนื่องจากทุกครั้งที่ผมโค้ชชิ่งใคร ผมก็จะโดนกับคำถามที่ผมใช้ไปด้วย เช่น คุณรู้หรือไม่ว่าทำไมจึงหงุดหงิดกับเรื่องต่างๆ ? : เออ! จริงซินะ เราหงุดหงิดไปทำไมเนี่ย คุณมีวิธีการที่จะไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้อย่างไรบ้าง? : นี่! เราก็ไม่ค่อยพยายามหาวิธีใหม่ๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายเหมือนกัน มัวแต่กังวลกับอุปสรรคอยู่ได้ งานที่คุณทำอยู่มีคุณค่าเพียงพอให้ทุ่มเทหรือไม่? : เรายังทุ่มเทกับงานของเราน้อยไป เพราะถ้าทำสำเร็จ เกินคุ้มแน่นอน เห็นไหมครับว่า การเป็นโค้ชช่วยให้ผมสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากมาย ผมจึงตั้งเป้าหมายการเป็นโค้ชไว้ว่า “มุ่งมั่นให้พลังผู้อื่นเลี่ยนแปลงด้วยตัวของเขาเองอย่างยั่งยืน” ดังนั้น ผมจึงตั้งใจที่จะสร้างแนวความคิดเกี่ยวกับการโค้ชชิ่งของตัวเองขึ้นมา โดยการเน้นให้โค้ชชี่เข้าใจหลักการมากกว่าวิธีการ เพราะโค้ชชี่ต้องเป็นผู้กลับไปเผชิญสภาพแวดล้อมเดิมๆ ของตัวเอง หากจำเพียงวิธีการที่ดีไปอาจจะประยุกต์ไม่ได้ เพราะแต่ละสถานการณ์จะไม่เหมือนกัน วิธีการหนึ่งๆ อาจไม่เหมาะสมกับทุกสถานการณ์ หากให้โค้ชชี่เลือกจำที่หลักการก็จะช่วยให้โค้ชชี่ประยุกต์ใช้วิธีการที่เหมาะสมของตัวเองได้ เป้าหมายผลลัพธ์ที่ผมอยากเห็นจากโค้ชชี่ในฐานะที่ผมเป็นโค้ช มีดังนี้ โค้ชชี่เลือกวิธีการที่คิดว่าเหมาะสมกับตัวเองได้โดยไม่ต้องแนะนำ โค้ชชี่ยินดีและเต็มใจจะนำไปปฏิบัติเพราะเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น โค้ชชี่รู้สึกมีอิสระในการคิด ไม่ถูกกดดันจากคำถามของโค้ช โค้ชชี่ชอบแนวทางการโค้ชเพราะทำให้คิดได้เอง โค้ชชี่อยากเป็นโค้ชเนื่องจากอยากช่วยเหลือผู้อื่นบ้าง โค้ชชี่อยากให้มีการโค้ชชิ่งอีกในประเด็นอื่น สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดกับโค้ชชี่ในปัจจุบันนั้น ผมยังไม่สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ดังกล่าวได้ครบ แต่ก็เป็นความตั้งใจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โค้ชชี่อย่างยั่งยืนขึ้น จึงตั้ง เป้าหมายการเป็นโค้ชของตัวเองไว้จะได้เป็นหน่วยวัดความสำเร็จ (KPI) ในอาชีพการเป็นโค้ชของตัวเองครับ