จากที่แนวทางการโค้ชชิ่ง เป็นการดึงศักยภาพของโค้ชชี่ด้วยการทำให้โค้ชชี่ตระหนักในความสามารถของตนเอง ให้โค้ชชี่มีวิธีการในการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้วยวิธีของตัวเองนั้น ส่วนหนึ่งคือการปรับพฤติกรรมของบุคคล พฤติกรรมของบุคคลถูกหล่อหลอม และผ่านขบวนการต่างๆ จนบันทึกอยู่ในความจำ ดังนั้น การจะปรับพฤติกรรมจึงจำเป็นที่จะต้องมีขบวนการที่จะทำให้บุคคลตระหนัก และยอมรับ และต้องการเปลี่ยนด้วยตัวเอง ในการดำเนินการโค้ชชิ่ง แบบกลุ่ม (Group Coaching) หรือ รายบุคคล (1:1 Coaching) จะมีขบวนการขั้นตอนหลักคล้ายๆกันคือ 1. กำหนดหัวข้อ , ตกลงในเรื่องผลลัพธ์/เป้าหมาย ที่ต้องการ แจ้งให้โค้ชชี่ทราบถึง บทบาทของผู้เป็นโค้ช เพื่อให้เข้าใจในวิธีการระหว่างการสร้างขบวนการการเปลี่ยนแปลงนั้น 2. การประเมินตัวเองของโค้ชชี่เพื่อสร้างการตระหนัก รู้ และยอมรับในด้านที่เป็นจุดเด่นจุดแข็งของตนเอง 3. สร้างความเชื่อมั่นระหว่างโค้ช+โค้ชชี่ จากบทบาทที่โค้ชเป็นเพื่อนผู้สะท้อนความคิดและการประเมินสิ่งต่างๆด้วยตัวโค้ชชี่เอง จนสามารถสร้างแนวทางและ แผนการดำเนินงานของตัวเองจากหรืออาจจะร่วมกันสร้างทางแนวทางการดำเนินการ (แผน) ,กิจกรรมต่างๆ และ พิจารณาความคืบหน้าของผลลัพธ์ ที่ต้องการว่าเป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ 4. ดำเนินการโค้ชชิ่ง ตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้ ขั้นตอนนี้ Coach จะต้องใช้ทฤษฎีต่างๆ ความรู้ แนวความคิดและประสบการณ์ตรงของตัวเองที่ได้สะสมมาในการฟัง (Listening) การตั้งคำถาม (Questioning) เพื่อสะท้อนความคิดของโค้ชชี่ และให้ ข้อมูลป้อนกลับ (Feed back) ตลอดจนกระตุ้นจูงใจ (Motivate) ให้โค้ชชี่ ดำเนินการตามแผนการตัวเองที่ได้กำหนดไว้ตรวจสอบ ความก้าวหน้าปรับปรุงแผนการตามความเหมาะสม 5. การใช้แนวความคิดชื่นชมและเห็นคุณค่าในความสำเร็จ (Appreciative approach) สื่อสารในเชิงบวก เพื่อให้ถึงเป้าหมาย Appreciative approach เป็นแนวทางที่จะช่วยในการปูพื้นฐานต่างๆ สำหรับการโค้ชชิ่ง ที่ทำให้เห็นว่า สิ่งใดที่เหมาะสม, เป็นที่ต้องการหรือจำเป็นเพื่อให้โค้ชชี่สามารถไปถึงเป้าหมายได้ เมื่อนำมาใช้ในการโค้ชจะทำให้เกิดทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจากบุคคลสู่ทีมงาน วิธีการของ Appreciative approach เป็นการสอบถามเพื่อค้นหาโอกาส,และมุ่งไปสู่การกระทำ (Proactive) มากกว่าการตั้งรับ (Reactive) เป็นการกระตุ้นท้าทายความคิดและการกระทำของโค้ชชี่ แต่ในการดำเนินการจริงๆแล้ว ทั้งการดำเนินการแบบกลุ่ม (Group Coaching) และรายบุคคล (1:1 Coaching) จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน เนื่องจาก Group Coaching เป็นการดำเนินการในลักษณะกลุ่มซึ่งมักนำเทคนิค Coaching มาประยุกต์ใช้ในการฝึกอบรม วัตถุประสงค์หลักคือการให้โค้ชชี่นำสิ่งที่ได้รับการฝึกอบรมนั้นทั้งด้านความรู้ และแนวความคิดในเรื่องของพฤติกรรม ไปปรับเปลี่ยนการทำงานของโค้ชชี่เองในลักษณะกลุ่ม หรือ องค์ความรู้ทั่วไป แต่ 1:1 Coaching โดยมากจะเป็นการให้ความรู้/ปรับพฤติกรรมรายบุคคล ซึ่งพฤติกรรม/ลักษณะของแต่ละบุคคล ก็จะส่งผลต่อวิธีการในระหว่างการโค้ชชิ่งนั้น
สำหรับระยะเวลาในการดำเนินงานจะสั้นหรือยาว ขึ้นกับข้อตกลงระหว่างโค้ช และ โค้ชชี่ และ ระดับของเป้าหมายที่ต้องการ