โค้ชเป็นบทบาทหนึ่งที่หัวหน้างานควรใช้ในการพัฒนาทีมงานเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ทีมงานสามารถใช้ความรู้ความสามารถ (ศักยภาพ) ของเขาได้ อย่างเต็มที่มากขึ้น เนื่องจากเป็นบทบาทที่ได้รับการยอมรับในองค์กรต่างๆ มากขึ้น หากหัวหน้างานพัฒนาตัวเองให้เป็นโค้ชคือ ใช้กระบวนการโค้ชชิ่ง (Coaching) กับทีมงานมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดผลลัพธ์จากทีมงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะเขาเต็มใจที่จะเป็นผู้ปฏิบัติในงานนั้นๆ ด้วยตัวเขาเอง บทบาทโค้ชต่างจากบทบาทอื่นๆ ที่ใช้ในการพัฒนาทีมงาน ดังนี้ โค้ชเชื่อว่าโค้ชชี่มีศักยภาพและความสามารถของตัวเอง โค้ช ใช้คำถามกระตุ้นให้คิดมากกว่าการแนะนำโดยตรง โค้ชจูงใจให้โค้ชชี่ปฏิบัติ ไม่บังคับ โค้ชมุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ใช่ให้ความรู้ ผู้ที่สนใจจะปฏิบัติตัวตามบทบาทของโค้ชก็เพียงแค่นำวิธีการโค้ชชิ่ง (Coaching) มาปรับใช้ให้มากขึ้น เช่น การใช้คำถามแทนการบอกเล่า ปฏิบัติกับโค้ชชี่ในฐานะมนุษย์ไม่ใช่พนักงาน (สนใจความต้องการของมนุษย์แต่ปฏิบัติให้ถูกต้อง) มุ่งเน้นการทำให้โค้ชชี่เปลี่ยนแปลงตัวเองและสิ่งที่จะนำไปปฏิบัติ ไม่ใช่ความต้องการของโค้ชและไม่มีวาระของตัวเอง เชื่อมั่นในกระบวนการโค้ชชิ่งมากกว่ากังวลกับผลลัพธ์ การดำเนินบทบาทโค้ชในช่วงแรกๆ อาจจะยาก เพราะทุกท่านไม่คุ้นเคยกับกระบวนการและไม่แน่ใจว่าจะได้ผลลัพธ์หรือไม่ เนื่องจากมีความเชื่อในอดีตที่ขัดกับแนวความคิดของโค้ชชี่เท่านั้นเอง เช่น ขนาดบอกแล้ว ยังทำไม่ได้เลย ใช้แค่ถามจะมีวิธีเหรอ ถ้าเรารู้ว่าควรทำอย่างไรด้วยตัวเอง แล้วทำให้ต้องรอให้เรามาถามด้วย ไม่แนะนำเลย ถ้าเกิดทำผิดพลาดก็เสียหายแย่ซิ ปล่อยให้คิดเองอยู่แล้ว แต่เห็นคิดไม่ค่อยได้ เขามาปรึกษาต้องการคำตอบจากเรา ไม่ให้เขา เขาจะคิดอย่างไร ผมอยากแนะนำให้ลองใช้กระบวนการโค้ชชิ่งในการพัฒนาทีมงานมากขึ้นครับ บทบาทนี้อาจจะทำให้ทุกคนมีความสุขกับทีมงานมากขึ้นก็ได้นะครับ เพราะผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราปฏิบัติไปเรื่อยๆ คือ โค้ชมีความสุขที่เห็นโค้ชชี่เปลี่ยนแปลงตัวเอง โค้ชไม่ต้องเคียดที่จะคอยให้คำตอบ โค้ชไม่ตั้งความคาดหวังกับโค้ชชี่ ทำให้ไม่ผิดหวัง โค้ชช่วยผู้อื่นได้มากขึ้น เพราะเขาคิดได้เอง โค้ชสร้างผลงานผ่านทีมงานได้เพราะเขาเต็มใจทำเองแค่นี้ก็น่าจะคุ้มค่ากับบทบาทการเป็นโค้ชนะครับ